งานหนัก เงินน้อย เสี่ยงอันตราย แถมยังต้องแบกรับความคาดหวังอันหนักอึ้งจากประชาชนไว้บนบ่า ส่งผลให้ “ตำรวจ” เป็นอาชีพที่น่าเห็นอกเห็นใจมากที่สุดอาชีพหนึ่งเลยก็ว่าได้
เร็วๆนี้ มีการเปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการฆ่าตัวตายของตำรวจไทย พบว่าระหว่างปี 2551-2556 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายทั้งหมด 172 นาย หรือเฉลี่ย 29.17 นายต่อปี
โดยเฉพาะปีที่แล้วปีเดียว มีตำรวจฆ่าตัวตายถึง 31 นาย
“ตำรวจเป็นอาชีพปิดท้องหลังพระ คนที่เลือกเป็นตำรวจมาด้วยใจรักทั้งนั้น ทั้งที่รู้ว่างานเสี่ยง เงินเดือนน้อย ไม่มีวันรู้ว่าทุกครั้งที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่จะต้องเจออะไรบ้าง บางครั้งได้รับคำชม แต่หลายครั้งโดนด่า เรียกว่าทำบุญไม่ขึ้น”
เป็นความในใจของ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ผู้เป็นกระบอกเสียงแทนข้าราชการตำรวจกว่า 2.2 แสนนายทั่วประเทศ
สาเหตุบีบคั้นที่ให้ตำรวจตัดสินใจก่อเหตุอัตวินิบาตกรรม ประกอบด้วย ปัญหาครอบครัว (31.40 %) สุขภาพ (27.91 %) หนี้สิน (10.47 %) เครียดจากหน้าที่การงาน (5.81%) รวมถึงเรื่องส่วนตัวอื่นๆที่ไม่อาจทราบสาเหตุแน่ชัด
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุอีกว่าตำรวจสายงานที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ สายป้องกันและปราบปราม (74.42 %) ชั้นยศที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ นายดาบตำรวจ (56.98 %) ช่วงอายุ 41-50 ปี (44.19 %) ขณะที่กองบังคับบัญชาที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย บช.ภ.5 บช.ภ.3 และบชน.
“เกินครึ่งของตำรวจที่ฆ่าตัวตาย ล้วนมีปัญหาความไม่สงบในครอบครัว ทะเลาะวิวาทมีปากเสียงกับลูกเมียเป็นประจำ บางคนไปตรวจเจอโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาระยะยาว เช่น มะเร็ง โรคตับ หลายคนมีหนี้สินรุงรัง ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน ถูกนายดุด่า เครียดจากงานที่มากเกินไปแถมไม่ได้พัก เนื่องจากงานต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดเวลา ออกเวรไปก็ต้องไปทำภารกิจอื่นนอกเหนือจากปกติอีก เช่น ดูแลการชุมนุม ตั้งด่านตรวจ สังเกตว่าทุกเทศกาลแทบไม่เคยได้ไปไหน
เมื่อลองวิเคราะห์ดูกลุ่มที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด นั่นคือ สายตรวจ ยศดาบตำรวจ อายุ 40-50 ปี อยู่ในช่วงอายุที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ลูกเริ่มโต เริ่มมีหนี้สิน โรคภัยเริ่มปรากฏ ขณะเดียวกันสายตรวจถือเป็นหน้าที่ที่เป็นกระดูกสันหลังของงานตำรวจ อะไรๆก็มาลงที่สายตรวจ บางคนไปตรวจสุขภาพมาพบว่าเป็นโรคหัวใจ หมอบอกอีกสามวันมาตรวจใหม่ ปรากฏว่าไปไม่ได้เพราะติดภารกิจ จึงไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง เข้าบ้านลูกขอค่าเทอม ทะเลาะกับเมีย นายสั่งให้ตรวจตราเคร่งครัด อีกทั้งการเข้าระงับเหตุก็เสี่ยงต่อชีวิต ดีกรีความเครียดมันเข้มข้นกว่าอาชีพอื่น”
ตำรวจบางนายเผชิญหน้ากับมรสุมลูกเดียวยังพอเอาอยู่ บางคนเจอทีเดียวสองสามลูกจนหัวหมุน อีกหลายคนอาจเจอปัญหาประเดประดังเข้ามาพร้อมกันทีเดียว เมื่อถูกบีบคั้นถึงขีดสุด ไร้ทางออก จึงคิดสั้นปลิดชีพตัวเองเพื่อหนีปัญหา
แน่นอนว่าอุปกรณ์ในการทำอัตวินิบาตกรรมยอดนิยม คือ อาวุธปืน!
“ข้อสำคัญคืออุปกรณ์ในการฆ่าตัวตายมันอยู่ใกล้มือ หากเป็นอาชีพอื่นคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย ก็ต้องขวนขวายออกไปหาซื้อเชือก หามีด หายาฆ่าหญ้า ไม่ก็กระโดดตึกสูงๆ มีผลวิจัยบอกไว้ว่าคนเราถ้าคิดฆ่าตัวตายปุ๊บ แต่ยังไม่สามารถหาอาวุธได้ทันที ปล่อยให้เวลาทอดยาวออกไป โอกาสเปลี่ยนใจมีสูง”
พล.ต.ต.ปิยะ เสนอแนะว่ามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหานั้น ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน รวมถึงครอบครัวต้องช่วยกันสอดส่องดูแลพฤติกรรมของตำรวจที่มีความเครียดและมีแนวโน้มว่าจะฆ่าตัวตาย
“สัญญาณเตือนจะปรากฏให้เห็น เช่น บ่นว่าเบื่อโลก รู้สึกตัวเองไร้ค่า อยากตายให้พ้นๆ พูดจาสั่งเสีย แจกข้าวของส่วนตัว เขียนพินัยกรรม จากที่เคยสนุกสนานเฮฮา กลายมาเป็นคนเงียบขรึม ซึมเศร้า ไม่สุงสิงกับใคร หนักเข้าก็หันหน้าเข้าหาขวดเหล้าจนติดงอมแงม
พฤติกรรมผิดสังเกตของลูกน้องเป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกละเลย ยอมรับว่าที่ผ่านมา เราไม่ค่อยเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ผู้บังคับบัญชาต้องเข้าไปคุย ดึงเขาออกจากปัญหาโดยเร็วที่สุด เช่น สั่งย้ายสายงาน ให้พักร้อน บางโรงพัก นายเห็นลูกน้องเครียดก็ให้เอารถตู้ไปเที่ยวทะเลเลย เพื่อนร่วมงานและครอบครัวก็ต้องรับฟัง ให้เขาได้ระบาย ปรับทุกข์ ช่วยกันปลอบโยน ที่สำคัญตัวตำรวจคนนั้นก็ต้องยอมรับด้วยว่าตัวเองกำลังมีปัญหา ต้องได้รับความช่วยเหลือ ทุกคนช่วยแก้ปัญหาได้ ก่อนจะเกิดการสูญเสียขึ้น”
ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องรู้ความจริงว่าตำรวจไม่ใช่ซูเปอร์แมน เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ทั้งยังเป็นมนุษย์ที่ต้องแบกรับความกดดันมากกว่าอาชีพอื่นไม่รู้กี่เท่า
ข้อมูลตำรวจฆ่าตัวตายปี51-56
-ตั้งแต่ปีงบประมาณ51-56มีตำรวจฆ่าตัวตาย 172นาย-ปีงบฯ55มากที่สุด 47 นาย-เฉลี่ยต่อปี (ตั้งแต่ปี 51-55) 28.8 นาย-หน่วยงานที่มีตำรวจฆ่าตัวตายมากที่สุด1.ภาค5 (22นาย)2.ภาค3 (18นาย)3.บช.น. (17นาย)-ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 41-50ปี (44.19%)-ชั้นยศ ด.ต. ฆ่าตัวตายมากที่สุด (56.98%)-สายงานที่ฆ่าตัวตายมากที่สุด งานป้องกันปราบปราม (74.42%)
จำแนกตำรวจฆ่าตัวตายตามสายงานปี51-56
1.ป้องกันปราบปราม 128 นาย หรือ 74.42%2.อำนวยการและสนับสนุน 13 นาย หรือ 7.56%3.จราจร 9 นาย หรือ 5.23%4.สืบสวน 9 นาย หรือ 5.23%5.สอบสวน 8 นาย หรือ 4.65%6.เทคนิค 2 นาย หรือ 1.16%7.บริหาร 3 นาย หรือ 1.74%