เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ได้จัดเสวนาทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน ในหัวข้อ “Living with COVID-19 ตอน บทบาทตำรวจและอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด” พบข้อมูลและข้อเสนอหลายประเด็นที่น่าสนใจ

เริ่มจากบทบาทหน้าที่ของตำรวจที่ถือเป็น “ด่านหน้า” ในการสู้โควิด-19 เช่นกัน จากภารกิจการตั้งด่านคัดกรอง ตรวจจับ และจับกุมผู้ต้องหา โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปรวมตัวมั่วสุมเสพยา ดื่มสุรา น้ำกระท่อม และตั้งวงเล่นพนัน ซึ่งล้วนเป็น “บุคคลกลุ่มเสี่ยง” ทั้งสิ้น และตำรวจก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่สัมผัสโดยตรงกับบุคคลเหล่านั้น

จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ตั้งแต่เริ่มการระบาดในประเทศไทย มีตำรวจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 60 นาย รักษาหาย 44 นาย อยู่ระหว่างการรักษาตัว 16 นาย และมีตำรวจที่ต้อง “กักตัวเอง” ทั้งหมด 1,141 นาย ปัจจุบันยังมีตำรวจต้องกักตัวเองอยู่ 243 นาย

ที่ผ่านมาเคยมีตำรวจในโรงพักกลางกรุงเทพฯ สอบปากคำผู้ต้องหาในห้องสอบสวน และมีผู้สื่อข่าวเข้าไปรุมทำข่าว สุดท้ายตำรวจที่สอบปากคำติดโควิด เพื่อนตำรวจและนักข่าวทั้งห้องสอบสวนต้องกักตัวกันวุ่นวาย นี่คือตัวอย่างของความเสี่ยงของตำรวจ และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมา

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ สรุปประเด็นจากการเสวนาว่า บทบาทของตำรวจในยุคโควิด-19 ต้องเริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจกับตำรวจเอง ซึ่งมีตัวอย่างที่องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น แสดงความชื่นชม อย่างเช่นสำนักงานตำรวจของเกาหลีใต้ เพราะได้ให้ความรู้และนำไปต่อยอดเป็นหลักปฏิบัติ หรือ โปรโตคอล” และคู่มือในการทำงานของตำรวจที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค เช่น เฟซชิลด์ หรือแม้แต่ชุด PPE, การแต่งกาย และรูปแบบการปฏิบัติงานที่ลดความเสี่ยง เช่น การตั้งด่านตรวจก็ไม่ควรชะโงกศรีษะเข้าไปในรถ หรืออย่างเรื่องการล้างรถทันทีเมื่อรับตัวผู้ต้องหา เหล่านี้เป็นต้น

เรื่องสวัสดิภาพของตำรวจก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อตำรวจมีแนวโน้มเป็น “กลุ่มเสี่ยง” จากหน้างานที่ต้องสัมผัสกับผู้ต้องหาแบบเลือกไม่ได้ ทันทีที่กลายเป็น “กลุ่มเสี่ยง” หากต้องกลับไปอาศัยที่แฟลตตำรวจ หรืออยู่กับครอบครัว ซึ่งแฟลตตำรวจไม่มีสถานที่กักแยก ก็จะทำให้ครอบครัวและเพื่อนบ้านพลอยเสี่ยงไปด้วย ฉะนั้นด้วยลักษณะงานของตำรวจที่เป็น “ด่านหน้า” จึงควรมี facility หรือสถานที่กักตัวเองรองรับเพื่ออำนวยความสะดวก และถือเป็นสวัสดิการของตำรวจชั้นผู้น้อยไปด้วยในตัว

นอกจากนั้นในอนาคต แม้ในช่วงที่วิกฤติโควิดผ่านไปแล้ว แต่ก็อาจจะมีโอกาสหวนกลับมาอีก หรือมีเชื้อโรคตัวใหม่มาแทนโควิด-19 เหตุนี้เอง ผู้อำนวยการ TIJ จึงเน้นว่า “วิถีใหม่” ของตำรวจจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงานมากขึ้น โดยเฉพาะ “ซีซีทีวี” หรือกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่เชื่อมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ และอุปกรณ์ติดตามตัว รวมไปถึงโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ การใช้แอปพลิเคชันมาช่วยในการสืบประวัติของคนร้าย รวมไปถึงการจัดสถานที่ภายในโรงพักใหม่เพื่อป้องกันการแพร่และเพาะเชื้อ ซึ่งเรื่องตำรวจกับเทคโนโลยีถือว่าสำคัญมากๆ

ขณะที่การเตรียมความพร้อมของตำรวจในการรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “วิถีใหม่ของอาชญากรรม” ได้เหมือนกัน ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ตำรวจต้องปรับตัวให้เท่าทันกับอาชญากร

“เพราะเมื่อพรมแดนปิดเนื่องจากโรคระบาด การก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดนอาจหันไปใช้ออนไลน์มากขึ้น จึงต้องเตรียมความพร้อมทางด้านนี้ไว้ด้วย ขณะเดียวกันเมื่อมีการปิดเมือง ประกาศเคอร์ฟิว อาชญากรรมประเทภ street crime พวกลักวิ่งชิงปล้นลดลง แต่อาชญากรรมออนไลน์กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นแพลทฟอร์มเชิงพาณิชย์ การฉ้อโกงออนไลน์จะมีมากตามมา การค้าของเถื่อน ยาเสพติด หรือแม้แต่แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติอาจวางแผนใช้อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ตำรวจต้องเตรียมรับมือ” ศาตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าว

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าจับตา ก็คือ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะในช่วงที่คนอยู่บ้าน ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายก็อยู่ในบ้าน ออกไปขอความช่วยเหลือไม่ได้ และการเข้าถึงของหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยเหลือก็ทำได้ยาก เหล่านี้ส่งผลให้สถิติความรุนแรงในครอบครัวในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น เช่น มาเลเซีย 59% สิงคโปร์ 33% และฝรั่งเศส 30%

ผู้อำนวยการ TIJ สรุปว่า ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นที่เสนอให้ตำรวจได้พิจารณา เพื่อปรับทิศทางการทำงานเป็น “วิถีใหม่” ของตำรวจไทย โดยเฉพาะการเดินเข้าหาชุมชนมากขึ้น ตามหลักการของ community policing เพื่อใช้พลังของชุมชนเข้ามาช่วยป้องกันแก้ปัญหาอาชญากรรม